เครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราเพื่อวางแนวแกนไม้อัตโนมัติ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอด

เครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราเพื่อวางแนวแกนไม้อัตโนมัติ

ที่มาและความสำคัญ

ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่เป็นผลพลอยได้จากการปลูกต้นยางพาราเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตหลักคือน้ำยาง ภายหลังจากที่ต้นยางพาราไม่สามารถผลิตน้ำยางได้คุ้มค่าเกษตรกรเจ้าของสวนจะตัดต้นยางพาราทิ้งเพื่อปลูกต้นยางพาราใหม่ทดแทน โดยทั่วไปแล้วต้นยางพาราจะสามารถให้ผลผลิตได้นานประมาณ 15 ปี หลังการตัดต้นยางพาราทิ้งแล้ว ต้นยางพาราจะถูกตัดออกเป็นท่อนซุงความยาวประมาณ 1.2 เมตร เพื่อให้สะดวกต่อการส่งไปยังโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราเป็นไม้แผ่น โดยขั้นตอนในการแปรรูปประกอบด้วยการจับท่อนซุงหมุนและผลักท่อนซุงผ่านเลื่อยยนต์ที่ฟันเลื่อยวางตัวในแนวตั้งหรือแนวนอน โดยเลื่อยยนต์ทำหน้าที่ในการตัดไม้ซุงออกเป็นไม้แผ่น จำนวนและขนาดของไม้แผ่นที่ได้จากขั้นตอนการแปรรูปนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของ “นายไม้” ซึ่งเป็นบุคลากรของโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราที่สะสมความชำนาญมาอย่างยาวนานจนสามารถใช้การสังเกตหน้าไม้ของท่อนซุงเพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการหมุนเพื่อแปรรูปเป็นไม้แผ่นให้ได้จำนวนและหน้ากว้างมากที่สุด โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราบางโรงงานได้พยายามแทนที่นายไม้โดยการนำเข้าเครื่องจักรอัตโนมัติจากต่างประเทศในราคาที่สูงมาก (ทั้งราคาของเครื่องจักรเอง และราคาของการปรับเปลี่ยนค่าตัวแปรควบคุมการทำงานของเครื่อง) โดยเครื่องจักรดังกล่าวนี้ใช้การประมวลผลภาพถ่ายหน้าไม้ของท่อนซุงและนำผลที่ได้ไปขับเคลื่อนมอเตอร์เพื่อควบคุมการหมุนของท่อนซุงเพื่อให้ได้มาซึ่งไม้แผ่นที่มีหน้ากว้างและจำนวนแผ่นมากที่สุด อย่างไรก็ตามเครื่องจักรอัตโนมัติเหล่านี้มีข้อจำกัดที่สามารถประมวลผลได้อย่างถูกต้องกับไม้ต่างประเทศเป็นหลัก (ไม้สน ไม้โอ๊ก) โดยไม้เหล่านี้ถูกปลูกภายใต้เงื่อนไขควบคุมการเจริญเติบโต มีการตัดกิ่งก้านสาขาเพื่อให้ไม้โตเฉพาะในแนวดิ่ง ในขณะที่ไม้ยางพาราถูกปลูกเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำยางดังนั้นจึงจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งใบ กิ่ง ก้านและสาขาเพื่อให้สามารถเกิดการสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนั้นคุณภาพของหน้าไม้ของท่อนซุงยังมีความแตกต่างกันมากระหว่างไม้ต่างประเทศและไม้ยางพารา นักวิจัยได้พิสูจน์แล้วว่าการหมุนท่อนซุงของนายไม้เป็นการทำให้ไส้ไม้ซึ่งเชื่อมต่อภายในระหว่างแกนไม้ทั้งสองด้านของท่อนซุงถูกจำกัดให้อยู่ภายในแผ่นไม้เพียงแผ่นเดียวที่อยู่ด้านกลางของท่อนซุงโดยประมาณ

เทคโนโลยี

การประดิษฐ์เครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราเพื่อวางแนวแกนไม้อัตโนมัติมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ช่วยจำกัดให้แกนไม้อยู่ภายในแผ่นไม้เพียงแผ่นเดียวที่อยู่ด้านกลางของท่อนซุงโดยประมาณหลังจากการแปรรูปท่อนซุง โดยการออกแบบเครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราเพื่อวางแนวแกนไม้รับท่อนซุงความยาวประมาณ 1.2 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 30 เซนติเมตร ประกอบด้วยโครงเครื่องทำหน้าที่รองรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ชุดตรึงและช่วยลำเลียงท่อนซุงที่ติดตั้งลูกกลิ้งเพื่อให้ท่อนซุงสามารถถูกดันผ่านไปยังอุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ ชุดตรึงและยกท่อนซุงที่ติดตั้งลูกกลิ้งที่ช่วยตรึงตำแหน่งท่อนซุงในแนวราบและช่วยให้ท่อนซุงสามารถถูกดันผ่านไปยังวงล้อของชุดหมุนท่อนซุงหลักและชุดหมุนท่อนซุงตาม โดยหลังจากท่อนซุงถูกวางไว้บนลูกกลิ้งของชุดตรึงและยกท่อนซุงแล้วท่อนซุงจะถูกปรับระดับในแนวดิ่งเพื่อให้หน้าตัดของท่อนซุงวางตัวอยู่บริเวณกึ่งกลางของวงล้อของชุดหมุนท่อนซุงหลักและชุดหมุนท่อนซุงตาม หลังจากนั้นท่อนซุงจะถูกตรึงไว้กับวงล้อหมุนของชุดหมุนท่อนซุงหลักและชุดหมุนท่อนซุงตามด้วยกลไกการตรึงท่อนซุง กล้องถ่ายภาพหน้าตัดท่อนซุงและประมวลผลเพื่อประมาณตำแหน่งแกนไม้จะทำงานควบคู่กับชุดหมุนท่อนซุงหลักและชุดหมุนท่อนซุงตามเพื่อหมุนท่อนซุงโดยอัตโนมัติจนแกนไม้ที่ขอบทั้งสองด้านของท่อนซุงวางตัวในแนวดิ่งหรือแนวราบเพื่อพร้อมส่งต่อไปยังเลื่อยยนต์เพื่อแปรรูปเป็นไม้แผ่นต่อไป

ชื่อนักวิจัย / สำนักวิชา

ชื่อนักวิจัย รศ.ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี
สำนักวิชา วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเภททรัพย์สินทางปัญญา

อนุสิทธิบัตร เลขที่ 21137

ข้อดี / จุดเด่น

  1. เป็นเครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราที่สามารถวางแนวแกนไม้ได้โดยอัตโนมัติ และสามารถทำให้การแปรรูปไม้แผ่น ได้ไม้แผ่นที่มีหน้ากว้างและจำนวนแผ่นมากที่สุด
  2. ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญในการแปรรูปไม้ก็สามารถใช้งานเครื่องได้

รูปภาพ

Scroll to Top