สร้างสรรค์และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้บริการนักวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่การขอรับความคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญา การวางกลยุทธ์ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาออกสู่ตลาด และการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยนักจัดการทรัพย์สินทางปัญญามืออาชีพ นักวิจัยสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการด้านต่างๆ ได้ดังนี้

เลือกเมนู

ความเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาที่มหาวิทยาลัยถือสิทธิ ความเป็นเจ้าของในผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างผลงาน ได้สร้างสรรค์ ประดิษฐ์หรือทำขึ้นโดยหน้าที่ การจ้าง การทำตามคําสั่งหรืออยู่ในความควบคุมดูแลของมหาวิทยาลัย โดยได้ใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งอาจเป็นงานอันเกิดจากเงินงบประมาณหรือจากแหล่งทุนอื่น ทรัพย์สินทางปัญญาตามระเบียบนี้ได้แก่

  1.  งานอันมีลิขสิทธิ์ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ยกเว้นเอกสารคำสอนและเอกสารประกอบการสอน
  2. การประดิษฐ์ กรรมวิธีหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือมิได้จดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
  3. เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วม ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า
  4. งานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาหรือทำขึ้นใหม่ ประเภทอื่นตามที่มีกฎหมายได้ให้ความคุ้มครองไว้

ให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้สร้างสรรงานได้ทำขึ้นโดยหน้าที่ การจ้าง การทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมดูแลของมหาวิทยาลัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่นกับผู้สร้างสรรค์งาน

  • กรณีทรัพย์สินทางปัญญาเกิดจากผู้สร้างสรรคงานได้ทำขึ้นโดยได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรหรือบุคคลใด ให้การทรงสิทธินั้นเป็นไปตามข้อตกลง
  • กรณีนักศึกษาได้สร้างสรรค์งานทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการทรัพย์สินทางปัญญากำหนด
  • ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินทางปัญญา เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นอย่างอื่นกับผู้สร้างสรรค์งาน ดังนั้น ในขั้นตอนการดำเนินการจดทะเบียนจึงต้องมีการลงนามยินยอมโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ทุกท่าน ซึ่งมีฐานะเป็น “ผู้โอนสิทธิ” ให้แก่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีอธิการบดีลงนาม “ผู้รับโอนสิทธิ”

การดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

         ให้ผู้สร้างสรรค์หรือผู้ประดิษฐ์แจ้งข้อมูลผลงานทรัพย์สินทางปัญญาไปยังหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูล การศึกษาค้นคว้า การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียน หรือการดำเนินการเพื่อขอรับความคุ้มครอง ตลอดจนการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทั้งนี้ ไม่มีเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นผลงานที่ได้รับเงินสนับจากองค์กรหรือบุคคลใด ให้การดำเนินการเป็นไปตามข้อตกลง
ให้หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา เจรจาหรือดำเนินการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทน ให้คำแนะนำ คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างบริการหรือรับจ้างงานวิจัย เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอันเกิดจากงานรับจ้างบริการหรือรับจ้างวิจัยนั้น ให้บริการช่วยเหลือสืบค้นข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา รวบรวมจัดให้มีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นปัจจุบัน ประชาสัมพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และติดตามดูแลผลประโยชน์ตอบแทนตลอดจนดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ผลประโยชน์ของพนักงานมหาวิทยาลัยในฐานะผู้ประดิษฐ์จะได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญา

ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว หรือผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ์ ผู้ประดิษฐ์ซึ่งเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย สามารถนำไปนับเป็นภาระงานได้ ตามประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของพนักงานสายวิชาการ และพนักงานสายบริหารวิชาการ พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ดังนี้

  • สิทธิบัตร 20 คะแนนต่อชิ้น
  • อนุสิทธิบัตร 8 คะแนนต่อชิ้น
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 4 คะแนนต่อชิ้น

มหาวิทยาลัยจัดสรรเงินสมนาคุณผลงานวิจัยที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ตามประกาศมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินสมนาคุณฯ พ.ศ. 2555 โดย

  • ผลงานที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรผลงานละ 20,000 บาท
  • ผลงานที่ได้รับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรผลงานละ 10,000 บาท
    ทั้งนี้ หากมีผู้ประดิษฐ์หลายท่าน ผู้ประดิษฐ์จะได้รับตามสัดส่วนการมีส่วนร่วมในผลงาน

1. ให้มหาวิทยาลัยหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนที่จะจัดสรรผลประโยชน์ให้หน่วยงานและ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นใดเกี่ยวกับการขอหรือการรักษาสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญญา
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยมีหลักฐานการจ่าย
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพื่อการจัดหาผลประโยชน์ตอบแทนจากทรัรพย์สินทางปัญญา

2. เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งาน มีการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์และการวิจัยในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ให้มหาวิทยาลัยจัดสรรผลประโยชน์หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 มาจัดสรรให้แก่

  • ผู้สร้างสรรค์งาน ได้รับร้อยละ 80 ของรายได้สุทธิ
  • มหาวิทยาลัย ได้รับร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิ
    ทั้งนี้ กึ่งหนึ่งของส่วนที่มหาวิทยาลัยได้รับ มหาวิทยาลัยต้องจัดสรรให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อการพัฒนางาน/ผู้สร้างสรรค์งานหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน และไม่ขัดต่อระเบียนการเงินของมหาวิทยาลัย

ระเบียบ/ประกาศ/คำสั่งด้านทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

คุณพรรษกร ฉันทวีโรจน์ (เล็ก)
0 7567 3575 , 2927
npatsako@mail.wu.ac.th

Scroll to Top