กรรมวิธีการแปรรูปน้อยที่สุดของผลมังคุดสด

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอด

กรรมวิธีการแปรรูปน้อยที่สุดของผลมังคุดสด

ที่มาและความสำคัญ

มังคุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง (โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ) ซึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการนำผลมังคุดดิบแก่ ซึ่งเปลือกมีสีเขียวและแข็งมาผ่านกรรมวิธีการแปรรูปน้อยที่สุด โดยการปอกเปลือก และนำเนื้อมังคุดทั้งผลไปแช่ในสารละลายผสมของสารส้ม และเกลือ นาน 30 นาที ซึ่งจะได้เนื้อมังคุดที่มีสีขาว ลักษณะเนื้อสัมผัสแน่นและกรอบ รสชาติหวานอมเปรี้ยว อย่างไรก็ตามสำหรับมังคุดสุกระดับสีที่ 5 (เปลือกผลมีสีม่วงแดง) ถึงระดับสีที่ 6 (เปลือกผลมีสีม่วงเข้ม) ซึ่งเป็นระดับสีเปลือกที่เนื้อภายในมีรสชาติหวานและเนื้อสัมผัสนิ่มกว่า และเป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุดนั้น ยังไม่พบว่ามีการจำหน่ายในท้องตลาดในรูปของผลมังคุดสุกที่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูปน้อยที่สุด เนื่องจากเนื้อมังคุดสุกที่ผ่านการปอกเปลือกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสีเนื้อ เนื้อสัมผัส และรสชาติอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 5-6 ชั่วโมง ส่งผลให้ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และไม่คุ้มค่ากับการลงทุนเพราะมีอายุการเก็บรักษาสั้น

เทคโนโลยี

ทางทีมนักวิจัย ได้คิดค้นและทดลอง จนได้กรรมวิธีการแปรรูปน้อยที่สุดของผลมังคุดสด โดยใช้วิธีทางเคมี (การใช้สารยับยั้งการเกิดสีน้ำตาลร่วมกับสารรักษาความแน่นเนื้อ) และวิธีทางกายภาพ (การบรรจุภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปลงร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ) เพื่อชะลอการเสื่อมเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์มังคุดพร้อมบริโภค

ชื่อนักวิจัย / สำนักวิชา

ชื่อนักวิจัย ผศ.ดร.สุปราณี มนูรักษ์ชินากร
สำนักวิชา เทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

ประเภททรัพย์สินทางปัญญา

อนุสิทธิบัตร – เลขที่คำขอ 1003000012

ข้อดี / จุดเด่น

  1. เพื่อชะลอการเสื่อมเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์มังคุดพร้อมบริโภค
  2. สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์มังคุดพร้อมบริโภคได้นาน 12 วัน

ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.freepik.com/

Scroll to Top