สูตรอาหารและกรรมวิธีการเลี้ยงด้วงสาคูให้มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า3 และกรดอะมิโนจำเป็นสูง

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอด

สูตรอาหารและกรรมวิธีการเลี้ยงด้วงสาคูให้มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า3 และกรดอะมิโนจำเป็นสูง

ที่มาและความสำคัญ

ด้วงสาคูเป็นแมลงที่มีการเพาะเลี้ยงมากในแถบภาคใต้โดยเฉพาะในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ สงขลา และยะลา เนื่องจากเป็นแมลงที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตเร็ว ขนาดตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนักมาก และมีวงจรชีวิตสั้น นอกจากนี้ด้วงสาคูยังอุดมไปด้วยไขมัน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ จึงคาดว่าน่าจะเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม กรดไขมันหลักในด้วงสาคู คือกรดปาล์มิติก และโอเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่จำเป็น โดยที่มีกรดไขมันจำเป็นในปริมาณต่ำ นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 6/โอเมก้า 3 ที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ รวมทั้งมีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นต่ำกว่าโปรตีนอ้างอิงที่กำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ โดยทั่วไปคุณค่าทางโภชนาการในสัตว์จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาหารที่บริโภค ดังนั้นหากปรับเปลี่ยนสูตรอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงด้วงสาคูจะสามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของด้วงสาคูให้สูงขึ้นได้ ทั้งนี้สูตรอาหารและกรรมวิธีการเลี้ยงสาคูที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้จะมุ่งเน้นการเพิ่มกรดไขมันจำเป็นในกลุ่มโอเมก้า 3 ให้ใกล้เคียงกับน้ำมันปลา และเพิ่มกรดอะมิโนจำเป็นเพื่อให้ด้วงสาคูเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง

เทคโนโลยี

สูตรอาหารและกรรมวิธีการเลี้ยงด้วงสาคูให้มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดอะมิโนจำเป็นสูง สำหรับใช้เลี้ยงด้วงสาคูในกะละมัง โดยสามารถเพิ่มปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ให้สูงกว่าการเลี้ยงด้วยสาคูบดเพียงอย่างเดียวถึง 25.42 เท่า และมีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นเพิ่มสูงกว่าการเลี้ยงด้วยสาคูบด 1.40 เท่า เป็นสูตรอาหารที่คิดค้นขึ้นมาแล้วในอัตราส่วนที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว และหลังจากเลี้ยงครบ 40 วันแล้ว สามารถเก็บหนอนด้วงสาคูพร้อมจำหน่ายได้เลย

ข้อดี / จุดเด่น

  1. มีกรดไขมันโอเมก้า3 สูงกว่าการเลี้ยงด้วยสาคูบดเพียงอย่างเดียวถึง 25.42 เท่า
  2. มีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นเพิ่มสูงกว่าการเลี้ยงด้วยสาคูบด 1.40 เท่า
  3. ด้วงสาคูเจริญเติบโตเร็ว”

ชื่อนักวิจัย / สำนักวิชา

ชื่อนักวิจัย รศ.ดร.มนัส ชัยจันทร์ และ รศ.ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์
สำนักวิชา เทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

ประเภททรัพย์สินทางปัญญา

อนุสิทธิบัตร-เลขที่คำขอ 2103001358

ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.freepik.com/

Scroll to Top