กรรมวิธีการสกัดขมิ้นชันด้วยตัวทำละลายยูเทกติกชนิดไม่ละลายน้ำ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมถ่ายทอด

กรรมวิธีการสกัดขมิ้นชันด้วยตัวทำละลายยูเทกติกชนิดไม่ละลายน้ำ

ที่มาและความสำคัญ

ขมิ้นชันเป็นพืชที่ปลูกในหลายพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีได้วัตถุดิบที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสูง ขมิ้นเป็นส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ และเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพเชิงพานิชย์ เหง้าขมิ้นประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือ สารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์และน้ำมันหอมระเหย ส่วนประกอบทางเคมีเหล่านี้ของขมิ้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลายโดยเฉพาะฤทธิ์ต้านภาวะเมแทบอลิกซินโดรมและภาวะแทรกซ้อนจากสภาวะดังกล่าว สารสกัดขมิ้นมีฤทธิ์ลดระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดทั้งระดับสัตว์ทดลอง และผู้ป่วย สารเคอร์คูมินมีฤทธิ์เพิ่มการเมแทบอลิซึมของน้ำตาลกลูโคสในกล้ามเนื้อลาย และลดภาวะดื้ออินซูลินได้ สารเคอร์คูมินมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต้านโรคอัลไซเมอร์ และยับยั้งโรคพาร์กินสัน สารสกัดขมิ้นยับยั้งพิษของแอลกอฮอร์ต่อระบบประสาท และการชราของเซลล์ ดังนั้นสารสกัดขมิ้นชันที่เป็นส่วนผสมระหว่างสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์และน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งสำหรับกินและผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก การสกัดสารสำคัญทางยาจากวัตถุดิบสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีการสกัดแบบดั้งเดิมใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ปริมาณมาก และต้องกำจัดออกให้หมดก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เทคนิคการสกัด เช่น การสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยลง และใช้ตัวละลายอินทรีย์น้อยลง การพัฒนาตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประยุกต์ใช้กับเทคนิคการสกัดด้วยคลื่นไมโครเวฟเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตัวทำละลายชนิดยูเทกติกชนิดไม่ละลายน้ำ เป็นตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถกินได้ จึงเหมาะสมในการสกัดสารกลุ่มไม่มีขั้วจากสมุนไพร ดังนั้นการพัฒนาครั้งนี้จะเป็นการพัฒนากระบวนการสกัดโดยใช้กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีขยะเคมีจากกระบวนการสกัด กระบวนการสกัดที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพของขมิ้นชันให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน

เทคโนโลยี

กรรมวิธีการสกัดขมิ้นชันด้วยตัวทำละลายยูเทกติกชนิดไม่ละลายน้ำ ประกอบด้วย การเตรียมตัวทำละลายยูเทกติกชนิดไม่ละลายน้ำโดยใช้ส่วนผสมระหว่างกรดอินทรีย์และเมนทอล และกรรมวิธีการสกัดโดยใช้เทคนิคคลื่นเสียงความถี่สูงช่วย กรรมวิธีที่ปรับให้เหมาะสมแล้ว สามารถสกัดสารสำคัญของขมิ้นชัน (สารเคอร์คูมิน เดสเมท็อกซี่เคอร์คูมิน บิสเดสเมท็อกซี่เคอร์คูมิน และสารเออาร์-เทอร์เมอโรน) ได้ดีกว่าตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น เมทานอลและเอทานอล

ชื่อนักวิจัย / สำนักวิชา

ชื่อนักวิจัย ผศ.ดร.กรวิทย์ อยู่สกุล
สำนักวิชา เภสัชศาสตร์

ประเภททรัพย์สินทางปัญญา

อนุสิทธิบัตร
เลขที่คำขอ 2103001640

ข้อดี / จุดเด่น

  1. ได้สารสกัดที่ปลอดภัย
  2. กระบวนการสกัดไม่เกิดของเสียเคมี

ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์ www.pexels.com

Scroll to Top