2 บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ จับมือ ม.วลัยลักษณ์ เดินหน้าวิจัยนวัตกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง

2 บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ จับมือ ม.วลัยลักษณ์ เดินหน้าวิจัยนวัตกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง

2 บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ จับมือ ม.วลัยลักษณ์ เดินหน้าวิจัยนวัตกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้าง

วันที่ : 12 พฤศจิกายน 2567
สถานที่ : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
จัดโดย :
ฝ่ายความร่วมมือการวิจัยกับเอกชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
อ่านเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/walailak.sciencepark/

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัทก่อสร้างชั้นนำ 2 แห่ง คือ บริษัท จีเอฟอาร์พี คิงส์ จำกัด และบริษัท ปัญญาคอนกรีต จำกัด เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้าง ณ Innovation Hub อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
การลงนามครั้งนี้นำโดย ศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผศ.ดร. อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งร่วมต้อนรับผู้บริหารจากทั้งสองบริษัท ได้แก่ คุณพิสิษฐ์ จรัสพงศ์ถาวร ผู้บริหารจาก บริษัท จีเอฟอาร์พี คิงส์ จำกัด และคุณประเสริฐ ตั้งเด่นไชย กรรมการผู้จัดการ(MD) บริษัท ปัญญาคอนกรีต จำกัด พร้อมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนแนวนโยบายและวางแผนความร่วมมือในโครงการวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และบริษัท จีเอฟอาร์พี คิงส์ จำกัด ประกอบด้วยการลงนามในสัญญาวิจัยในหัวข้อ “ประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นคอนกรีตเสริมแรงด้วยตะแกรงแท่งคอมสิตแบบรับแรงสองแกน” ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นคอนกรีตเสริมแรงแบบใหม่ที่สามารถรับแรงได้หลากหลายทิศทาง เพิ่มความทนทานและประหยัดต้นทุน
ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังได้ลงนามในสัญญาวิจัยกับบริษัท ปัญญาคอนกรีต จำกัด ในโครงการ “การประยุกต์ใช้การวิเคราะห์วงจรชีวิตในการใช้คอนกรีตรีไซเคิล สำหรับนวัตกรรมลูกปูนหนุนในงานก่อสร้าง” โดยมีเป้าหมายในการนำคอนกรีตรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตลูกปูนหนุน เพื่อประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร
การร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาครั้งนี้สะท้อนถึงความตั้งใจในการพัฒนาและยกระดับวงการก่อสร้างของประเทศไทยผ่านการใช้นวัตกรรมที่ล้ำสมัยและความคิดริเริ่มเชิงวิจัย

Scroll to Top