FAQs

ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ต้องทำอย่างไรงานของเราที่ได้ประดิษฐ์หรือที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา จะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย ?

ตอบ การจะได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายนั้น จะขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่คิดค้นขึ้นมาว่าจะอยู่ในขอบข่ายของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด ในบริบทของประเทศไทยได้มีกฏหมายเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเอาไว้หลานฉบับ เช่น ถ้าเกี่ยวกับการประดิษฐ์อุปกรณ์ กรรมวิธีต่างๆ การออกแบบผลิตภัณฑ์ จะต้องยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรถึงจะได้รับความคุ้มครอง ถ้าเกี่ยวกับงานเขียน งานวรรณกรรม บทประพันธ์ วิดีโอ ฯลฯ จัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติทันทีที่ได้สร้างสรรค์งานเสร็จโดยไม่ต้องจดทะเบียน  ส่วนเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ จะต้องจดทะเบียนจึงจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือบริการนั้น เป็นต้น

เรามักได้ยินคำว่าลิขสิทธิ์ (Copyright) ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง มันคืออะไร? ทำอย่างไรถึงจะได้รับการคุ้มครอง ?

ตอบ ลิขสิทธิ์  หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น ซึ่งประเภทลิขสิทธิ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ มีดังนี้คือ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียง แพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบทั้งโดยจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นอกจากนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ยังให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดงด้วย อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองลิขสิทธิ์ ไม่ครอบคลุมถึงความคิดหรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ วิธีใช้หรือทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

สิทธิบัตร (Patent) คืออะไร ?

ตอบ สิทธิบัตร คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) และอนุสิทธิบัตร (Petty Patent) โดยที่กฏหมายระบุให้ผู้ทรงสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร มีสิทธิเด็ดขาด หรือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตร หรือ อนุสิทธิบัตรนั้น ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

ทำไมจึงควรขอรับสิทธิบัตร ?

ตอบ เพื่อการคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของผู้ประดิษฐ์และผู้ออกแบบตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะมีสิทธิเด็ดขาดหรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรนั้น ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

วิทยานิพนธ์ รายงานฉบับสมบูรณ์ หนังสือ ตำรา เป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด ?

ตอบ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ประเภทงานวรรณกรรม

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สื่อมัลติมีเดีย ภาพวาด เป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด ?

ตอบ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานวรรณกรรม สื่อมัลติมีเดีย เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ภาพวาดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรม

แบบอาคารจำลอง ตัวแมสคอท เป็นงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด ?

ตอบ แบบอาคารจำลอง เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทสถาปัตยกรรม ตัวแมสคอทเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปกรรม

การประดิษฐ์คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะสามารถขอรับสิทธิบัตรได้หรือไม่ ?

ตอบ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทวรรณกรรม แต่ถ้ามีการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ ผู้เขียนจะต้องเขียนรายละเอียดการประดิษฐ์ที่เน้นตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลักโดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบ  กรณีนี้จึงจะยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรได้

ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ สูตรเคมี วิธีการ (Method) ชื่อหนังสือ จะขอความคุ้มครองในงานทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด ?

ตอบ ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใดๆ ได้

กรณีมีการสร้างผลงานวิจัยขึ้น จะไม่ขอรับสิทธิบัตรได้หรือไม่ ?

ตอบ

  1. ได้ เพราะผลการวิจัย การประดิษฐ์คิดค้นบางรายการ มีคุณสมบัติไม่ครบตามที่กฎหมายสิทธิบัตรกำหนด จึงจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรไม่ได้
  2. ได้ เพราะผลการวิจัย การประดิษฐ์คิดค้นบางรายการอาจจะเป็นประโยชน์กว่าถ้าไปขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเภท “ความลับทางการค้า”
  3. ได้ เพราะผลการวิจัย การประดิษฐ์คิดค้นบางรายการที่แม้จะได้รับจดสิทธิบัตร / อนุสิทธิบัตร หากไม่มีการนำไปใช้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ไม่สร้างมูลค่า

อะไรคือประโยชน์ที่ได้จากการจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ?

ตอบ

  1. ได้พัฒนาต่อยอดความรู้ทางเทคโนโลยี เกิดนวัตกรรมของโลก
  2. ช่วยตอบโจทย์/แก้ไขปัญหาของเทคโนโลยีเดิมให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  3. สร้างรายได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี
  4. ได้ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านวิชาการและศักยภาพการแข่งขันขององค์กร (นับเฉพาะสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว)
  5. ผู้ประดิษฐ์ได้รับการจัดสรรผลประโยชน์อันเกิดจากทรัพย์สินทางปัญญา
  6. ผู้ประดิษฐ์ได้ใช้เป็นผลงานในการประเมินผลงานประจำปีและการขอตำแหน่งวิชาการ (นับเฉพาะสิทธิบัตรที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว) หรือนักศึกษาใช้เป็นเงื่อนไขในการจบการศึกษาแทนการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการได้

ในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยการให้บริการของ TLO ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ?

ตอบ

  1. การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้ทรงสิทธิ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ด้วย
  2. การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นผู้ทรงสิทธิร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในประกาศการยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียนตามประเภทของทรัพย์สินทางปัญญานั้น
  3. การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรสำหรับบุคคลภายนอกตอนนี้ยังไม่ค่าใช้จ่ายในส่วนของการให้บริการคำแนะนำ การสืบค้น การบริการช่วยจัดเตรียมคำขอ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียนตามประเภทของทรัพย์สินทางปัญญานั้น

หากมีภาครัฐหรือภาคเอกชนอื่นสนใจจะใช้ผลการวิจัย การประดิษฐ์คิดค้น ทรัพย์สินทางปัญญา ของมหาวิทยาลัย ควรดำเนินการอย่างไร ?

ตอบ ให้อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และบุคลากรทุกท่าน ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจขอใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ติดต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (TLO) เพื่อช่วยดำเนินการได้แก่ ประสานการติดต่อและนัดหมายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อการเจรจาต่อรอง การจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การลงนามทำสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfers Agreement) การลงนามทำสัญญาอนุญาตให้สิทธิ (Technology Licensing Agreement) การทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิ (Assignment Agreement) สัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูล (Non-disclosure Agreement) และสัญญาถ่ายโอนวัสดุชีวภาพ (Material Transfer Agreement) ฯลฯ การจัดเก็บรายได้และการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น

กฎระเบียบของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา มีอะไรบ้าง ?

ตอบ Click link

สิทธิประโยชน์ของบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีอะไรบ้าง ?

ตอบ สิทธิประโยชน์ของบุคลากรที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีดังนี้

  • เมื่อสร้างผลงานที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร จะได้รับการจัดสรรเงินสมนาคุณผลงานที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ทั้งนี้ รายละเอียดเป็นไปตามประกาศฯ
  • เมื่อสร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์และได้รับค่าตอบแทนจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี้จะได้รับการการจัดสรรผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ รายละเอียดเป็นไปตามประกาศฯ
  • เมื่อสร้างผลงานที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร จะสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาการกำหนดมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของคณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ผู้ดำรงตำแน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ทั้งนี้ รายละเอียดเป็นไปตามประกาศฯ
    (อ้างอิง : https://sciencepark.wu.ac.th/tlo/property-regulations)

ถ้าจะขอรับความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ให้ติดต่อได้ที่หน่วยงานใด ?

ตอบ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา (TLO)

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ชั้น 1 โซน B อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์และเทตโนโลยี  โทร 0-7567- 3575 

E-mail: npatsako@mail.wu.ac.th  https://sciencepark.wu.ac.th/tlo/