2 นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ คิดค้นอุปกรณ์ช่วยให้รอดพ้นจาก Covid-19

2 นักวิจัย มวล. คิดค้นอุปกรณ์ช่วยให้รอดพ้นจาก Covid-19

       ในสภาวะปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะเชื้อสามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เหงื่อ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ติดเชื้อ หรือการนำมือที่ไปสัมผัสกับเชื้อมาสัมผัสใบหน้า หรือไปสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆที่มีเชื้อติดอยู่ ซึ่งมือเป็นอวัยวะสำคัญที่มนุษย์ใช้หยิบจับสิ่งของต่างๆ หรือนำมาสัมผัสใบหน้า จึงเป็นจุดสะสมเชื้อโรคโดยตรง

 2 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ก็ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากไวรัส Covid-19 ได้

โดยงานวิจัยชิ้นแรก  เป็น “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า”  งานวิจัยของ  รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี

นักวิจัยกล่าวว่า เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าช่องทางหลักในการรับเชื้อโรคทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย คือ จมูก ปาก และตา โดยทั่วไปแล้วเชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่ช่องทางเหล่านี้ด้วยการสัมผัสจากฝ่ามือทั้งเกิดจากความตั้งใจและเกิดจากความพลั้งเผลอ  ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรม “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” โดยอุปกรณ์นี้มีการประมวลผลการเคลื่อนที่ของมือเข้าสู่บริเวณใบหน้า และมีการส่งเสียงเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบ การแจ้งเตือนนี้ส่งผลในการลดพฤติกรรมการนำมือมาสัมผัสใบหน้าของผู้ใช้งาน และลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก และตา โดยอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้สามารถพกพาและทำงานได้โดยอิสระ  เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ไม่พึ่งพาคอมพิวเตอร์ในการประมวลผล ไม่ใช้กล้องวิดีโอในการจับภาพ รองรับกับการติดตั้งเพื่อใช้งานกับผู้ใช้งานได้หลากหลายช่วงวัย และหลากหลายรูปแบบของการทำกิจกรรม

หลักการทำงาน “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า”นี้ จะมีการประมวลผลเพื่ออ่านระยะห่างของวัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาใบบริเวณใบหน้าโดยผ่านทางตัวตรวจวัดระยะห่างของวัตถุด้วยคลื่นอินฟราเรด ผลจากการประมวลผลที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนที่ของมือเข้าใกล้ใบหน้าจะนำไปสู่การเปล่งเสียงเตือนผ่านลำโพงขนาดเล็ก  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้งานลดหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าลง และส่งผลในการตัดวงจรการรับเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านสัมผัสด้วยมือผ่านทางจมูก ปาก และตา

 

 

ชิ้นที่สอง เป็น “ถ้วยยางป้องกันการสัมผัสลูกบิด”  งานวิจัยของ ผศ.ดร.ประชิด สระโมฬี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้วยคล้ายแก้วน้ำ ผลิตจากยางธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก โดยข้อดีของการผลิตจากยางธรรมชาติคือยางมีความยืดหยุ่นสูง มีความเหนียวติดดี สามารถยึดเกาะและมีแรงเสียดทานที่สามารถหมุนลูกบิดให้หมุนไปในทิศทางที่ต้องการได้ นอกจากนี้ยังมีความต้านทานต่อแรงดึงและการฉีกขาดสูง มีความทนทานต่อการสัมผัสกับน้ำและเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ได้ดี สามารถล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ได้

โดยผศ.ดร.ประชิด สระโมฬี นักวิจัยได้ออกแบบรูปร่างของถ้วยยางนี้ให้ง่ายต่อการใช้งาน  คือมีขนาดกะทัดรัด พกพาได้สะดวก ด้านในได้ถูกออกแบบให้มีแถบนูนเพื่อยึดจับกับผิวของลูกบิดได้อย่างกระชับ ไม่เกิดการลื่นไถลขณะใช้งาน สามารถควบคุมทิศทางของการหมุนได้สะดวก แม่นยำ ซึ่งการใช้งานถ้วยยางนี้สามารถใช้กับลูกบิดที่มีลักษณะทรงกลม ทรงรี ทั้งลูกบิดประตู หน้าต่าง ลูกบิดก๊อกน้ำ เป็นต้น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลนี้สามารถลดการสัมผัส จึงลดโอกาสในการแพร่เชื้อของเชื้อโรคและป้องกันติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้

Scroll to Top