แฟ้มผลงานวิจัยของ ม. วลัยลักษณ์และกระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลย์ได้รวบรวมข้อมูลผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่พร้อมใช้และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเพื่อขอรับคำปรึกษาหรือร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนการใช้บริการต่างๆได้จากเมนูด้านล่างนี้

ขั้นตอนการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของ ม. วลัยลักษณ์

การอนุญาตให้ใช้สิทธิคือการที่เจ้าของเทคโนโลยี ผลงานวิจัย หรือทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตให้ผู้ขอรับอนุญาตใช้สิทธิสามารถใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัย หรือทรัพย์สินทางปัญญาตามขอบเขตและเงื่อนไขที่ตกลงกัน อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่การยื่นขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยบนเว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ เช่น นิทรรศการผลงานทรัพย์สินทางปัญญา, เวทีประกวดผลงานนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ, หรือการติดต่อกับภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ภาคเอกชนที่สนใจในเทคโนโลยีสามารถขออนุญาตใช้สิทธิตามขั้นตอนต่อไปนี้

ภาคเอกชนที่สนใจผลงานวิจัยของ ม. วลัยลักษณ์ สามารถนัดพบกับนักประดิษฐ์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยติดต่อผ่านผู้ประสานงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผู้ประกอบการ (ส่งแบบฟอร์ม : Click) ขออนุญาตใช้สิทธิพร้อมทั้งเสนอแผนการใช้ประโยชน์ในผลงานทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งอาจประกอบด้วยระยะเวลาสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์, แผนการนำเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาด, และประมาณการทางการเงินในช่วง 2-3 ปีแรกภายหลังที่ได้รับใบอนุญาตใช้สิทธิ ผู้ประกอบการเพิ่งเริ่มต้นจัดตั้งบริษัทผู้ประกอบการต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทีมงานและทรัพยากรของบริษัทรวมถึงเงินทุนจดทะเบียนของบริษัทเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดรูปแบบการอนุญาตใช้สิทธิและค่าตอบแทนต่างๆ ให้เหมาะสม

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำรูปแบบและเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้สิทธิเสนอต่อผู้ประกอบการ ประกอบด้วย..

3.1 เทคโนโลยีที่อนุญาตให้ใช้สิทธิ

ว่าให้สิทธิตามสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/ลิขสิทธิ์/ความลับทางการค้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง

3.2 รูปแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิ 
  • การอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Licensing) ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิใช้สิทธิดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในอาณาเขตที่กำหนดโดยที่ผู้อนุญาตหรือเจ้าของสิทธิก็ไม่มีสิทธิใช้สิทธิดังกล่าวในอาณาเขตที่กำหนด
  • การอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียว (Non-Exclusive Licensing) ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิใช้สิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้อนุญาตหรือเจ้าของสิทธิก็ยังมีสิทธิให้ตนเองหรือผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวในอาณาเขตได้
  • การอนุญาตให้ใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแต่ไม่จำกัดเจ้าของสิทธิ (Sole Licensing) ผู้ได้รับอนุญาตจะมีสิทธิใช้สิทธิดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในอาณาเขตที่กำหนด โดยที่ผู้อนุญาตหรือเจ้าของสิทธิก็ยังมีสิทธิใช้สิทธิดังกล่าวได้ในอาณาเขต แต่ไม่สามารถให้สิทธิแก่บุคคลอื่นอีกได้
3.3 ระยะเวลาของการอนุญาตให้ใช้สิทธิ

พิจารณาจากความเหมาะสมของปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะของเทคโนโลยี/ผลงานวิจัย/ทรัพย์สินทางปัญญา, แนวทางการใช้ประโยชน์และความสามารถในการทำการตลาดของผู้รับอนุญาต ทั้งนี้ ระยะเวลามักอยู่ในช่วง 3-5 ปี แต่บางกรณีอาจเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิตลอดอายุความคุ้มครองของทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้

3.4 ขอบเขตการอนุญาตให้ใช้สิทธิ

เป็นการตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตใช้สิทธิ เช่น ทำการผลิตได้ในประเทศไทยเท่านั้น หรือการตกลงในสาขาอุตสาหกรรมและประเภทผลิตภัณฑ์ที่นำเทคโนโลยี/ผลงานวิจัย/ทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ เช่น การอนุญาตให้ใช้สิทธิในอุตสาหกรรมกระดาษเท่านั้น เป็นต้น

3.5 บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี (นักวิจัย) และผู้รับอนุญาต

เช่น นักวิจัยต้องมอบเอกสารคู่มือการทำงาน จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี, ให้คำปรึกษาระหว่างกระบวนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่อผู้รับอนุญาต เป็นต้น

3.6 ค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ

คือค่าตอบแทนที่ผู้ขออนุญาตใช้สิทธิตกลงจ่ายให้กับผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิโดยพิจารณาจากต้นทุนของการสร้างผลงานรวมทั้งรูปแบบและเงื่อนไขของการอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นหลัก ประกอบด้วยค่าตอบแทนต่างๆ ได้แก่

  • ค่าเปิดเผยเทคโนโลยี (Upfront fee) เป็นค่าธรรมเนียมที่ผู้ขออนุญาตชำระให้แก่เจ้าของสิทธิเพื่อตอบแทนการเข้าถึงเทคโนโลยีและเป็นการแสดงถึงความพร้อมและความตั้งใจของผู้ขออนุญาตในการขอใช้สิทธิในเทคโนโลยี/ผลงานวิจัย/ทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ
  • ค่าตอบแทนรายปี (Royalty fee) เป็นค่าธรรมเนียมที่ผู้ขออนุญาตชำระให้แก่เจ้าของสิทธิเพื่อตอบแทนการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ ปกติจะคิดเป็นร้อยละของยอดขายของผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี/ผลงานวิจัย/ทรัพย์สินทางปัญญานั้นๆ ในแต่ละปี โดยอัตราที่คิดขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ สาขาเทคโนโลยี และสาขาอุตสาหกรรมที่มีการนำไปประยุกต์ใช้
  • ค่าถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer fee) คือค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้อนุญาตไปสู่ผู้ขออนุญาต

ผู้ประกอบการพิจารณารูปแบบและเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้สิทธิและเจรจาต่อรองจนเป็นที่ตกลงของทั้งสองฝ่าย  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มอบหมายให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาทำหน้าที่เจรจาต่อรองและเห็นชอบในเงื่อนไขของการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำร่างสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเสนอต่อผู้ประกอบการ นิติกรของ ม. วลัยลักษณ์มีหน้าที่พิจารณาร่างและให้ความเห็นชอบในเชิงกฎหมายก่อนที่ผู้บริหารจะลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

นักวิจัยดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีติดตามผลการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและจัดสรรผลตอบแทนการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยตามสัญญาและประกาศของมหาวิทยาลัย

ระเบียบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ของ ม.วลัยลักษณ์กำหนดแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาไว้ดังนี้

  • ให้มหาวิทยาลัยหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อนที่จะจัดสรรผลประโยชน์ให้หน่วยงานและ/หรือผู้ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
    1. ค่าใช้จ่ายเพื่อการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นใดเกี่ยวกับการขอหรือการรักษาสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญญา
    2. ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยมีหลักฐานการจ่าย
    3. ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพื่อการจัดหาผลประโยชน์ตอบแทนจากทรัรพย์สินทางปัญญา
  • ให้มหาวิทยาลัยจัดสรรผลประโยชน์หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 มาจัดสรรให้แก่
    1. ผู้สร้างสรรค์งาน ได้รับร้อยละ 80 ของรายได้สุทธิ
    2. มหาวิทยาลัย ได้รับร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิ
      ทั้งนี้ กึ่งหนึ่งของส่วนที่มหาวิทยาลัยได้รับ มหาวิทยาลัยต้องจัดสรรให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อการพัฒนางาน/ผู้สร้างสรรค์งานหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน และไม่ขัดต่อระเบียนการเงินของมหาวิทยาลัย
พี่แจ๊ส

คุณแสงนภา ตันสกุล (แจ๊ส)
0 7567 2927 , 3575
tsangnap@mail.wu.ac.th

Scroll to Top